ค่าจ้างตามประกันสังคม
ค่าจ้างตามความหมายของประกันสังคม คือ เงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติ ไม่ว่าจะคำนวณตามระยะเวลา หรือคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้และให้หมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้ในวันหยุดและวันลาซึ่งลูกจ้างไม่ได้ทำงานด้วย ทั้งนี้ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณ หรือจ่ายในลักษณะใด หรือโดยวิธีใด และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร
องค์ประกอบของค่าจ้าง
- เป็นตัวเงิน
- นายจ้างเป็นผู้จ่ายให้แก่ลูกจ้าง
- เพื่อตอบแทนการทำงานของลูกจ้างในวันและเวลาทำงานปกติ นอกจากนี้ยังหมายความรวมถึงเงินที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้างในวันหยุด และวันลา ที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานด้วย
ดังนั้น เงินใดก็ตามที่นายจ้างจ่ายให้กับลูกจ้าง หากเป็นตามองค์ประกอบดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่านายจ้างจะเรียกชื่ออย่างไร กำหนด คำนวณ หรือจ่ายในลักษณะใด หรือโดยวิธีใดก็ตามย่อมเป็นค่าจ้างทั้งสิ้น
ข้อสังเกตเงินที่ไม่ใช่ค่าจ้าง
- เงินที่นายจ้างจ่ายเพื่อเป็นสวัสดิการแก่ลูกจ้าง เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียนบุตร ไม่ถือเป็นการตอบแทนการทำงาน
- เงินที่นายจ้างจ่ายเพื่อจูงใจให้ลูกจ้างทำงานให้มากขึ้น ทำงานให้ดี หรือจ่ายให้ตอนออกจากงาน เช่น เบี้ยขยัน เงินโบนัส เงินบำเหน็จ เงินสะสม เงินชดเชย แม้จะมีเป็นการจ่ายประจำก็ไม่ถือว่าเป็นการตอบแทนการทำงาน
ค่าตอบแทนที่เป็นค่าจ้าง
- เงินเดือน
- ค่าครองชีพ
- ค่าเข้ากะ
- ค่าจ้างรายวัน
- เงินประจำตำแหน่ง
- ค่าแรง
ค่าตอบแทนที่ไม่เป็นค่าจ้าง
- ค่าล่วงเวลา
- โบนัส, ค่ารักษาพยาบาล
- เบี้ยขยัน, ค่าคอมมิชชั่น*
- เบี้ยประชุม, บิลมาเบิกค่าน้ำมัน
- ค่าจ้างทำของ
- เงินรางวัล, ค่าอาหาร, ค่าเช่าบ้าน
เพิ่มเติม
- -ค่าคอมมิชชั่น จะนำมารวมคำนวณประกันสังคมหรือไม่ ขึ้นอยู่กับลักษณะการจ่าย
- – ค่าคอมมิชชั่นที่ต้องนำมารวมคำนวณประกันสังคม ต้องเป็นค่าคอมมิชชั่นที่เกิดจากการขายสินค้าต่อชิ้น คำนวณตามจำนวนชิ้นที่ขายได้ ขายได้น้อยก็ได้ค่าคอมมิชชั่นน้อย ขายได้มากก็ได้ค่าคอมมิชชั่นมาก
- – ค่าคอมมิชชั่นที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณประกันสังคม ต้องเป็นค่าคอมมิชชั่นที่กำหนดจากเป้าหรือยอด เช่น ถ้าขายได้ครบ 100 ชิ้นจะได้รับค่าคอมมิชชั่น 1,000 บาท หรือ ถ้าขายได้ถึงเป้าที่กำหนด เช่น กำหนดเป้าการขายไว้ 100,000 บาท จะได้ค่าคอมมิชชั่นจากส่วนที่เกิน 100,000 บาท เป็นต้น